การดูแลสุขภาพ หมายถึง

หลักการและขั้นตอนการดูแลสุขภาพ

หลักการดูแลสุขภาพ

แต่ละชีวิตมนุษย์ เป็นหน่วยหนึ่งของธรรมชาติ ก่อเกิดโดยธรรมชาติ แตกดับเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการดำรงชีวิตขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ จึงควรสอดคล้องกับวิถีของธรรมชาติ การดูแลสุขภาพ หมายถึง การส่งเสริมป้องกันและรักษาร่างกายและจิตใจให้เป็นปกติสุขควรยึดหลักการของธรรมชาติเป็นสำคัญ

การดูแล สุขภาพ

การที่ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข แสดงถึงความสมดุลย์ของร่างกายและจิตใจ ที่เกิดจากพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ได้สัดส่วน ในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายตามสมควร ขับถ่ายได้เป็นเวลา พักผ่อนอย่างเพียงพอ อาศัยอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ และอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ และพฤติกรรมอื่น ๆ อีกที่มีความพอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป ขณะเดียวกัน หากมนุษย์มีพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการเสียสมดุลย์ ส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกายลดลง จุลินทรีย์ที่มีอยู่โดยทั่วไป จะสามารถเข้าจู่โจม ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น (ซึ่งในภาวะที่ร่างกายแข็งแรง เชื้อโรคเหล่านี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้)

โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับมนุษย์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ

โรคติดต่อ

  • โรคติดต่อ คือ โรคที่สามารถถ่ายทอด ติดต่อถึงกันได้ระหว่างบุคคล โดยมีเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เป็นสาเหตุของโรค ได้แก่ วัณโรค กามโรค โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคเอดส์ เป็นต้น แม้ว่าเชื้อโรคจะเป็นตัวก่อเหตุ แต่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ก็เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ
  • โรคไม่ติดต่อ คือ โรคที่ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์เป็นตัวก่อโรค จึงไม่สามารถถ่ายทอดติดต่อถึงกันระหว่างบุคคลได้ สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคคือ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ โดยที่อาจมีสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกายที่ไม่ใช่จุลินทรีย์เป็นปัจจัยร่วม โรคในกลุ่มนี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยอีกมากมาย ที่ยังไม่ถึงขั้นที่จะจัดเป็นโรค มักเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโรคดังกล่าวแล้ว (โรคชนิดหนึ่ง ๆ มักปรากฏหลาย ๆ อาการ) เช่น อาการปวด อาการคลื่นไส้ อาการอาเจียน อาการปวดท้อง อาการท้องเสีย อาการท้องผูก อาการไอ อาการหอบ อาการนอนไม่หลับ เป็นต้น)

ในปัจจุบันเราทราบแน่ชัดแล้วว่า การปรากฏอาการหรือโรคต่อร่างกายนั้น จิตใจมีส่วนสัมพันธ์กัน เช่น ความเครียดทางจิตใจ เป็นปัจจัยร่วมของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

โรคภัยไข้เจ็บมีมากมาย หลักการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง จึงควรเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นส่วนสำคัญ โดยจะต้องศึกษาลักษณะของโรคและสาเหตุของการเกิดโรคเหล่านี้ด้วย และประพฤติปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดโรค ซึ่งในรายละเอียดจะต้องคำนึงถึงความสมดุลย์และธรรมชาติ ไม่ควรมีพฤติกรรมที่ประมาทหรือเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้วหวังผลการรักษาตรงปลายเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดที่เชื่อว่ายาคือพระเจ้าที่จะแก้ปัญหาสุขภาพได้ทุกกรณี เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะในขณะเดียวกัน ยาก็มีพิษภัยที่ก่อปัญหาได้เช่นเดียวกัน

ความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน แม้ว่าจะได้ดูแลป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถกำหนดสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปได้ดังใจนึกในทุกขณะหากเกิดการป่วยไข้ขึ้นมา การแก้ปัญหาก็ยังคงต้องอาศัยแนวคิดในเรื่องของธรรมชาติเป็นกุญแจสำคัญ ไม่ควรใจเร็วด่วนได้ แก้ปัญหาปลายเหตุโดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองถึงสาเหตุของปัญหาและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาต่อการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยการใช้ยา

อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ

มีอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรืออาจพูดได้ว่า การใช้ยาบำบัดหรือบรรเทาอาการนั้น ๆ เป็นประจำเป็นสิ่งที่ผิด อันที่จริงแล้ว อาการเจ็บป่วยหลาย ๆ อาการเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงผลของการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของร่างกาย สะท้อนให้ร่างกายได้รู้สึกว่ามีการเสียสมดุลย์เกิดขึ้น เพื่อเตือนให้ร่างกายปรับวิถีการดำรงชีวิตที่ผิดนั้นเสียใหม่ให้เหมาะสม อันจะทำให้เกิดการคืนสู่สมดุลย์ของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างปกติสุข

การใช้ยาแก้ปัญหาอาการโดยไม่จำเป็น จะทำให้เกิดการละเลยต่อการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดผลเสียมากขึ้นในที่สุด หรือในบางกรณีจะส่งผลเสียในระยะยาวได้

ขั้นตอนการดูแลสุขภาพ

การดูแลสุขภาพ ควรเริ่มต้นจากการศึกษาธรรมชาติของร่างกาย ประพฤติปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติร่างกาย เป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ควรวิเคราะห์หาสาเหตุให้พบและแก้ปัญหาให้ตรงจุดโดยไม่ต้องใช้ยา

เมื่อจำเป็นต้องใช้ยา ให้ระลึกเสมอว่ายาทุกชนิดมีอันตรายหากใช้พร่ำเพรื่อ แม้แต่วิตามินต่าง ๆ ให้ใช้เฉพาะครั้งที่มีภาวะวิกฤติเท่านั้น และควรเลือกใช้สมุนไพรที่อยู่ใกล้ ๆ ตัว ได้แก่ สมุนไพรในครัวเรือนก่อน เนื่องจากเป็นของธรรมชาติซึ่งมีความปลอดภัย และอาจไม่ต้องซื้อหา เป็นการประหยัดด้วย หากไม่มีสมุนไพรจึงเลือกใช้ยาสำเร็จรูป ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป

การใช้สมุนไพร หรือยาด้วยตนเอง มีขอบเขตในระดับหนึ่ง การรักษาโรคที่ซับซ้อน ควรมอบให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ซึ่งเราควรต้องเรียนรู้การใช้ยาที่ได้รับจากสถานบริการสาธารณสุขอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย

การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

การดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ รวมถึงด้านจิตใจด้วยจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยธรรมชาติ

ภาวะปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปมาก มนุษย์มีโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายและมากขึ้น มนุษย์จึงคิดค้นประดิษฐกรรมทางการแพทย์สามารถป้องกันโรคบางชนิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไวรัสเป็นเชื้อโรคที่ขจัดและทำลายได้ยาก จะใช้ยารักษาโรคเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว มนุษย์จึงต้องป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวิธีการให้วัคซีน โรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคคอตีบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก โรคโปลิโอ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม โรคไวรัสตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

ติดตามเราได้ที่นี่