แจกสูตร สมุนไพร แก้ปวดฟัน ฟันผุ

ฟัน เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องปากที่ต้องดูแลเอาใจใส่ ใครที่มีสุขภาพฟันที่ดีย่อมมีความมั่นใจ แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีสุขภาพฟันที่ดี หลายๆคนก็มีปัญหาเรื่องของฟัน เช่น ฟันผุ แมงกินฟัน รากฟันไม่แข็งแรง ฟันล้ม ฟันเอียง ฟันยื่น และอาการปวดฟันนั้นคงรู้กันดีเลยว่าปวดสุดๆเช่นกัน ทางแก้คือทานยาแก้ปวดและพบหมอฟัน แต่วันนี้ มีอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดอาการปวดฟันด้วยสมุนไพรมาฝากค่ะ

อาการของการปวดฟัน

จะมีการปวดรอบฟัน ไปจนถึงขากรรไกร และปวดร้าวไปตามกรามหรือปวดศีรษะได้ด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับฟัน

สาเหตุของการปวดฟัน

อาการปวดเป็นการรับรู้ของร่างกาย ที่มีต่อการทำลายของเนื้อเยื่อ แล้วส่งผ่านไปยังสมองเพื่อแปลผลเป็นความเจ็บปวดออกมา ซึ่งสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอาการปวดฟันนั้น มีได้หลายสาเหตุ ได้แก่ – ฟันผุ ซึ่งจะพบได้มาก ความรุนแรงจะขึ้นอยู่ที่ระดับของการผุ

– การอักเสบของเนื้อเยื่อในโพรงประสาท

– รากฟันอักเสบ

– โรคของเนื้อเยื่อรอบๆ ฟัน

– เหงือกอักเสบ

– ฟันได้รับบาดเจ็บจากการกระแทก เช่น ฟันแตกหรือร้าว

– ฟันคุด

– การอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทของเหงือกและฟัน

– การปวดร้าวมาจากอวัยวะอื่นๆ

สมุนไพรแก้ปวดฟัน

1.ว่านหางจระเข้ อีกหนึ่งสมุนไพรแก้ปวดฟันที่ค่อนข้างหาได้ง่ายมากๆ เนื่องจากว่านหางจระเข้มีสรรพคุณในการทำลายเชื้อโรค และสลายพิษ (Neutralization) ของเชื้อโรค วิธีใช้ก็ง่ายๆค่ะ เพียงแค่หั่นว่านหางจระเข้เป็นชิ้นๆความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วนำมาเหน็บไว้ที่ซอกฟันบริเวณที่ปวด หรือใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ ป้ายตรงบริเวณที่ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว

2. เมล็ดผักชี เราอาจจะเคยได้ยินว่าการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ ลดอาการปวดฟันได้ นั่นเป็นเรื่องจริงค่ะ แต่ถ้าบ้วนบ่อยเกินไปอาจจะได้ผลเสียจากเกลือที่ผสมกับน้ำแทน เพราะในเกลือมีโซเดียมสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสุขภาพ ฉะนั้นขอแนะนำให้ลองนำเมล็ดผักชีไปต้มกับน้ำ แล้วนำมาบ้วนปากบ่อย ๆ ไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับโซเดียมมากเกินไป แถมยังบรรเทาอาการปวดฟันได้อีกด้วย

3. ดาวเรือง ดอกดาวเรืองที่เราคุ้นเคยชนิดนี้มีดีมากกว่าแค่เพียงไว้ใช้ประดับให้สวยงามเท่านั้น เพราะถ้าหากนำดอกแห้ง 7-8 ดอกไปต้มกับน้ำในปริมาณที่พอเหมาะแล้วจิบทั้งวัน ก็สามารถลดอาการปวดฟันได้โดยไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวด อีกทั้งยังสามารถขับร้อนในร่างกายได้อีกด้วย

4.น้ำมันกานพลู หากปวดฟันมาก น้ำมันกานพลู เป็นสมุนไพรที่ช่วยระงับอาการปวดฟันได้ดีที่สุด เพียงอมน้ำมันกานพลูไว้ประมาณ 5 นาที จะทำให้รู้สึกชาอย่างรวดเร็ว แต่จะมีฤทธิ์อยู่ได้นานแค่ประมาณ 90 นาที เท่านั้น

5.ผักบุ้งนา นอกจากจะใช้ในการประกอบอาหารแล้ว ผักบุ้งนายังมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดฟันด้วยค่ะ เพียงแค่นำรากสดของผักบุ้งนาประมาณ 10 กรัม ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำส้มสายชู อมไว้ประมาณ 5 นาที แล้วบ้วนออกด้วยน้ำสะอาด

6.มะระ สูตรนี้นิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณแล้วค่ะ วิธีทำก็เพียงแค่นำรากสดของต้นมะระมาตำพอแหลก จากนั้นก็นำไปพอกบริเวณฟันซี่ที่ปวด โดยใช้ลิ้นกดไว้สักครู่ใหญ่ๆ จากนั้นอาการปวดฟันก็จะค่อยๆหายไป

7. ใบชา ใบชามีคุณสมบัติที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือช่วยลดการอักเสบและลดอาการเหงือกบวม จึงเหมาะจะนำมาใช้บรรเทาอาการปวดฟันอย่างยิ่ง เพียงนำใบชาแห้งไปแช่ในน้ำร้อนประมาณ 20 นาที แล้วรอจนกว่าน้ำชาจะเริ่มอุ่น จากนั้นนำมาบ้วนปากบ่อย ๆ จะช่วยให้ปวดฟันลดน้อยลง แต่อย่าลืมบ้วนน้ำสะอาดตามนะ เพราะน้ำชาอาจทำให้เกิดคราบหินปูนได้

8.ข่า + เกลือป่น อีกหนึ่งวิธีแก้ปวดฟันที่ได้รับความนิยมมากเช่นกันค่ะ วิธีทำก็ง่ายๆค่ะ เพียงแค่นำข่าสดที่กำลังแก่จัดมาตำให้ละเอียด จากนั้นใส่เกลือป่นลงไปเล็กน้อย เมื่อได้แล้วก็นำไปอุดฟันซี่ที่ผุ หรือเป็นรู หรือนำไปพอกบริเวณฟันที่ปวด ก็จะช่วยให้อาการปวดค่อยๆดีขึ้น

9.น้ำมันกระเทียม อีกหนึ่งสูตรแก้ปวดฟันที่สามารถทำได้ง่ายๆค่ะ เพียงแค่ใช้สำลีชุบน้ำมันกระเทียม แล้วนำมาทาบริเวณที่ปวดฟัน น้ำมันกระเทียมจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีเลยทีเดียว

10. น้ำมันละหุ่ง นำน้ำมันละหุ่งมาอุ่น แล้วใช้ผ้าชุบน้ำมันละหุ่งที่อุ่นมาประคบบริเวณที่มีอาการปวด น้ำมันละหุ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ไปคั่งอยู่กับเชื้อจุลินทรีย์ ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ หรือการปวดรากฟันช่วยให้ระงับอาการปวดฟันได้ดี

เห็นได้ว่าสมุนไพรดังกล่าวนั้นเป็นของใกล้ตัวเราทั้งนั้น สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการปวดฟันในเบื้องต้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดหรือบรรเทาอาการปวดได้เท่านั้น ฉะนั้นคนที่มีอาการปวดฟันจึงควรที่จะไปพบหมอฟันเพื่อเข้ารับการรักษา อย่าละเลยที่จะดูแลสุขภาพฟันกันนะค่ะ

สมุนไพรข้างต้นเหล่านี้เป็นสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็อย่าลืมว่าไม่สามารถทำให้อาการปวดฟันหายไปได้ ดังนั้นถ้าปวดฟันมาก ๆ ควรไปพบทันตแพทย์จะดีที่สุด เพราะอาการปวดฟันที่เกิดอาจมีสาเหตุอื่นได้เช่นกันค่ะ

ติดตามเราได้ที่นี่