วิธีดูแลสุขภาพแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

วิธีดูแลสุขภาพ-แบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในด้านสุขภาพนับว่าเป็นวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพที่มีความหลากหลายและแตกต่างกันไปในสังคมไทย โดยภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ตกผลึกมาจากการสังเกตทดลองใช้ คัดเลือก กลั่นกรอง พัฒนา และสั่งสมสืบทอด ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น ภูมิปัญญาไทยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพในเรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพของคนให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

วันนี้เรามีวิธีดูแลสุขภาพในแบบภูมิปัญญาชาวบ้านโบราณที่คุณสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้แบบไม่ยาก รับรองว่าอัดแน่นไปด้วยเกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพเพียบ พร้อมแล้วตามมาดูกัน

1. ปรับสมดุลในร่างกาย ด้วยอาหารฤทธิ์ร้อน-เย็น

ปรับสมดุลในร่างกาย

คำกล่าวที่ว่าคนสมัยก่อนกินอาหารเป็นนับว่ามีความเป็นจริงอยู่มากค่ะ โดยเฉพาะพืชผักของบ้านเราส่วนใหญ่แทบทั้งหมดล้วนมีสรรพคุณทางยาทั้งนั้น หากเข้าใจหลักการและนำมาประยุกต์ใช้กับการกินอาหารแต่ละวัน คุณก็จะมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยแม้ในวันที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย จะเห็นได้ว่าการกินอาหารของคนไทยสมัยโบราณนั้นปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยยึดเอาสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศเป็นปัจจัยในการกำหนดพฤติกรรมการกิน ซึ่งคนโบราณจะไม่กินอะไรซ้ำๆกันตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเน้นไปที่การกินพืชผักผลไม้ จึงทำให้มีสุขภาพแข็งแรงนั่นเอง

อาหารฤทธิ์เย็น
เป็นอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายเกิดความเย็น สังเกตง่ายๆคือ เป็นอาหารที่ทำให้รู้สึกชุ่มคอ ไม่หิวน้ำ เช่น มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ ลางสาด กล้วยน้ำว้า น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว สตรอเบอร์รี่ ฯลฯ

แตงโม

อาหารฤทธิ์ร้อน
เป็นอาหารที่กินแล้วทำให้เราเกิดความร้อน สังเกตง่ายๆคือ หากกินแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนหรือรู้สึกหิวน้ำถือว่าเป็นอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ฝรั่ง ขนุนสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า สละ ส้มเขียวหวาน มะตูม ละมุด มะเฟือง มะปราง มะขามหวานสุก มะไฟ ทับทิมแดง มะม่วงสุก ลูกยอ กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ

ทุเรียน

สำหรับแนวทางในการกินอาหาร คือ ควรเลือกบริโภคพืชผักให้เหมาะสมตามสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล เช่น หากอากาศร้อนก็ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อช่วยปรับสมดุลภายในร่างกาย แต่หากอากาศหนาว ควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายภายใน เพราะหากร่างกายไม่สมดุลก็จะนำไปสู่อาการป่วยไข้หรือไม่สบายได้ค่ะ

2. ดื่มน้ำสมุนไพร

ดื่มน้ำสมุนไพร

สมุนไพรไทยแต่ละชนิดนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายแตกต่างกันไปค่ะ แถมสมุนไพรบางชนิดยังช่วยรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆได้อีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากความเฉลียวฉลาดของคนสมัยก่อนที่คิดปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าบำรุงร่างกาย โดยผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยได้อย่างกลมกลืนนั่นเอง

  • น้ำขิง ขิงมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม ขับเสมหะ ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยลดการจับตัวของลิ่มเลือดและน้ำย่อยต่างๆ คนจึงนิยมดื่มน้ำขิงเพื่อบรรเทาอาหารไข้ ไอหรือมีเสมหะมาก
  • น้ำตะไคร้หอม ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการจุกเสียด ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ช่วยลดความดันโลหิต
  • น้ำใบบัวบก มีวิตามินเอสูงจึงช่วยบำรุงสายตาได้ดี ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาการช้ำใน ฟกช้ำ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว แก้อาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงหัวใจ บำรุงสมอง ช่วยขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ และช่วยลดอาการอักเสบได้ค่ะ
  • น้ำมะตูม เป็นยาระบายขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ขับเสมหะ และแก้อาการร้อนในได้ดี

3. นำพืชผักสวนครัวมาใช้ประโยชน์

นำพืชผักสวนครัวมาใช้ประโยชน์

ปัจจุบันคนเริ่มกลับมานิยมใช้พืชเป็นยารักษาโรคกันมากขึ้น ซึ่งพืชบางชนิดก็เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี อย่างเช่นพืชสวนครัวที่คุณนำมาใช้ทำอาหาร ซึ่งนอกจากใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารแล้วยังเป็นยารักษาโรคในตัวอีกด้วย นับว่าเป็นวิธีดูแลสุขภาพอย่างง่ายๆ ที่ทำได้เองแบบไม่ต้องกลัวสารเคมีเจือปนหรือตกค้างเลยล่ะค่ะ อย่างเช่น

  • หัวหอมเล็ก ใช้แก้พิษแมลงกัดต่อย โดยให้ใช้หัวหอมตำกับมะขามเปียก และนำมาทาบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย เช่น แมลงป่อง ตะขาบ มดตะนอย จะช่วยให้หายปวดบวมอย่างรวดเร็ว
  • กะเพรา ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดและปวดท้อง โดยใช้ยอดกะเพราสด 2-3 ยอด กินแกล้มกับอาหารจะช่วยขับลมและลดอาการท้องอืด ปวดท้องได้ดีมาก นอกจากนี้กะเพรายังสามารถนำมาใช้แก้พิษแมลงป่องต่อย โดยโขลกใบกะเพรา 1 กำมือให้ละเอียด และทาบริเวณที่ถูกแมลงป่องต่อย จะลดอาการปวดบวมได้เร็วขึ้นค่ะ
  • ข่า ใช้แก้ลมพิษ โดยนำหัวข่าล้างน้ำให้สะอาดตำผสมกับเหล้า ทาบริเวณที่เป็นลมพิษ จะทำให้เย็นและหายคันภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีการนำข่ามาใช้รักษาเกลื้อน โดยนำหัวข่ามาล้างให้สะอาดตำกับเหล้าขาว ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อนเช้าเย็น จะหายภายใน 2 สัปดาห์ค่ะ

4. บำรุงผิวหน้าและผิวกายด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านสูตรโบราณ

บำรุงผิวหน้าภูมิปัญญาชาวบ้าน

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิววางจำหน่ายให้ได้เลือกกันมากมาย แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจกับคุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้สมุนไพรไทยกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เพราะนอกจากจะไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิว สมุนไพรไทยของเรายังมีสรรพคุณสำหรับนำมาใช้ภายนอกเพื่อสุขภาพผิวพรรณได้อีกด้วยล่ะ วันนี้ เราขอรวบรวมตัวอย่างสมุนไพรไทยยอดฮิตที่สามารถช่วยบำรุงผิวคุณให้ดูขาวใส สวยและเปล่งปลั่งมาฝากสาวๆ ให้ได้ทราบกันค่ะ

  • ขมิ้น เป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ในการบำรุงผิวให้ขาวและเนียนผ่อง เพราะขมิ้นสามารถช่วยขจัดสิ่งสกปรกออกจากผิวได้อย่างหมดจด ช่วยทำให้ผิวเนียนนุ่ม และดูเปล่งประกายขึ้น แถมยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ชะลอกระบวนการผลิตเม็ดสีผิว จึงสามารถทำให้ผิวขาวขึ้นอีกด้วย ในส่วนของการใช้ขมิ้นบำรุงผิวก็เพียงแค่นำขมิ้นสด หรือขมิ้นตากแห้งที่บดเป็นผง (สามารถทำเอง หรือซื้อแบบสำเร็จรูปก็ได้) มาพอกและขัดบริเวณผิวหน้า และผิวกาย ทิ้งไว้สักพักจากนั้นล้างออกให้สะอาดค่ะ นอกจากการใช้ขมิ้นอย่างเดียวแล้ว คุณสามารถนำขมิ้นไปผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงผิว เช่น นำขมิ้นไปผสมกับน้ำผึ้ง และมะนาว สูตรนี้จะช่วยเพิ่มการทำความสะอาด และช่วยให้ผิวขาวได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
  • มะขามเปียก สมุนไพรคู่ครัวไทยอีกอย่างหนึ่งที่มีสรรพคุณเป็นกรด มี AHA ในปริมาณที่สามารถใช้ขัดผิวหน้า ผิวตัว หรือแม้กระทั่งจุดแห้งกร้าน ให้เนียนนุ่ม และดูขาวใสขึ้นได้ สำหรับใครที่อยากนำมะขามเปียกมาขัดหน้าขอให้ลองสูตรนี้ค่ะ คือให้นำมะขามเปียกผสมน้ำอุ่นให้กลายเป็นเนื้อครีมเตรียมเอาไว้ ส่วนอีกหนึ่งถ้วยให้ผสมดินสอพอง น้ำผึ้ง น้ำมันรำข้าว และนมสดเข้าด้วยกัน จากนั้นตักเนื้อมะขามที่คั้นไว้มาประมาณ 2 ช้อนโต๊ะมาผสม คนส่วนผสมให้เข้ากัน และนำมาพอกให้ทั่วผิวหน้า โดยเน้นส่วนที่มีปัญหาผิวและจุดด่างดำ เว้นช่วงรอบดวงตาและริมฝีปากไว้ นวดอย่างเบามือให้ทั่ว (หลีกเลี่ยงการนวดบริเวณที่มีสิวอักเสบ) ทิ้งเอาไว้ประมาณ 15-20 นาที ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นแล้วตบท้ายด้วยน้ำเปล่าเพื่อช่วยกระชับรูขุมขน ควรทำเป็นประจำอาทิตย์ละ 1- 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหน้าเกิดการระคายเคืองค่ะ

การใช้มะขามเปียกขัดผิว หรือพอกหน้านั้น ไม่ควรใช้เกินอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันผิวถูกรบกวนมากเกินไปจนอาจระคายเคืองได้ และที่สำคัญทุกครั้งที่ขัดผิวหรือพอกหน้าด้วยมะขามเปียก อย่าลืมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ด้วยครีมบำรุงเข้มข้น และทาครีมกันแดดด้วยนะคะ ผิวจะได้ขาวสดใส ไม่กลับไปคล้ำเสียอีก

5. บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะด้วยมะกรูด

ใครที่มีปัญหาแพ้สารเคมีในยาสระผม จนผมร่วงหรือมีปัญหาเรื่องหนังศีรษะเป็นขุย มีรังแคแล้วล่ะก็ เรามีวิธีดูแลสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะด้วยวิธีธรรมชาติที่เป็นสูตรของคนโบราณมาฝาก รับรองว่าไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอนค่ะ!

บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะด้วยมะกรูด

  • มะกรูด มะกรูดไม่เพียงแต่ทำให้ผมดำเป็นเงางามเท่านั้น แต่ยังช่วยกำจัดรังแคแก้คันศีรษะ แก้ผมแตกปลายป้องกันผมร่วงและทำให้ผมหงอกช้า ด้วยความที่มะกรูดเป็นสมุนไพรธรรมชาติ คุณจึงไม่ต้องกลัวแพ้เหมือนแชมพูที่ทำจากสารเคมี และที่สำคัญมะกรูดยังใช้บำรุงผมได้ทุกชนิด จะคนผมแห้งหรือผมมันก็ใช้ได้เหมือนกันค่ะ

สำหรับการใช้มะกรูดสระผมนั้นมีหลายวิธีให้เลือกด้วยกันค่ะ เช่น

  1. นำมะกรูดสดๆ มาผ่าครึ่ง แคะเอาเมล็ดออกจากนั้นบีบเอาน้ำมาใช้สระผม (แต่วิธีนี้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่ผิวมะกรูด)
  2. ปอกผิวมะกรูดออก นำมาตำให้ละเอียด แล้วบีบน้ำมะกรูดผสมลงไป เติมน้ำลงไปพอให้ส่วนผสมเริ่มเหลว คนให้เข้ากันดี ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วกรองคั้นเอาแต่น้ำไปใช้ วิธีนี้เวลาสระจะได้กลิ่นเหม็นเขียวจากผิวมะกรูด แต่สระเสร็จแล้วจะหอมได้ผลดีที่สุด
  3. นำลูกมะกรูดมาหั่นเป็นชิ้นและนำมาเข้าเครื่องปั่นจนละเอียดที่สุด เอาออกมาใส่ชามเติมน้ำอุ่นลงไปจนท่วม คนให้ทั่ว ตั้งทิ้งไว้ 10-20 นาที คั้นเอาแต่น้ำใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ น้ำมะกรูดจะอยู่ได้ 1-2 สัปดาห์ โดยจะใช้มะกรูดสดหรือเผาไฟก่อนก็ได้ค่ะ

เมื่อได้น้ำมะกรูดมาแล้วก่อนสระผมควรราดผมให้เปียกชุ่มเสียก่อน เนื่องจากน้ำมะกรูดมีฤทธิ์เป็นกรดแก่ จึงกัดหนังศีรษะได้ และขณะที่สระผมควรนวดศีรษะไปด้วย จากนั้นทิ้งไว้ 2-3 นาทีแล้วล้างออกและสระซ้ำอีกครั้ง แล้วล้างออกให้สะอาด อย่าให้มีเศษมะกรูดหลงเหลืออยู่เพราะจะทำให้ผมเสียค่ะ ที่สำคัญ! ระวังอย่าให้น้ำมะกรูดเข้าตาหรือถูกปาก เพราะจะรู้สึกแสบตาและชาปาก เวลาใช้ตอนแรกคุณอาจจะรู้สึกแสบที่หนังศีรษะบางแห่ง แสดงว่าตรงนั้นมีแผลอยู่ แต่ไม่เป็นอันตรายอะไรนะคะ ให้ใช้ไปเรื่อยๆจะหายเอง (ถ้ารู้สึกแสบทั้งหนังศีรษะแสดงว่าน้ำมะกรูดข้นไป ต้องผสมน้ำให้เจือจางลงอีก)

6. การนวดไทย

การนวดถือเป็นภูมิปัญญาในการรักษาโรค ซึ่งเป็นการสร้างเสริมและเป็นการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่ะ นอกจากนี้การนวดยังนับว่าเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่แสดงถึงการดูแลสุขภาพกันภายในครอบครัวอีกด้วย อย่างเช่น ลูกนวดให้ปู่ย่าตายาย หรือภรรยานวดให้สามี ซึ่งประโยชน์ของการนวดไทยนั้นมีผลดีต่อสุขภาพในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นระบบประสาท เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ

การนวดแผนไทย

ในปัจจุบันพบว่าพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพและต้องมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการต่างๆ ปวดหลัง ปวดบริเวณคอ/ไหล่ และปวดศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคออฟฟิศซินโดรม สาเหตุก็เนื่องมาจากต้องทำงานหนัก ประกอบอิริยาบถในการทำงานไม่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมไปถึงปัญหาความเครียดก็ส่งผลต่อการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ข่าวดีคือการนวดไทยนั้นเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะรักษาอาการดังกล่าวได้ค่ะ

ใครที่มีอาการปวดเมื่อยจากทำงาน บอกเลยว่าการนวดคือทางออกที่จะช่วยคุณได้ค่ะ รับรองว่าคุณจะหายเหนื่อยและหายเมื่อยแบบไม่น่าเชื่อ คุณสามารถจองบริการสปาที่คุณสนใจได้ทั้งหมด ทั้งออนเซนที่ให้คุณผ่อนคลายได้ในเมืองไทยแบบไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น รวมไปถึงสปา นวดไทย นวดแผนโบราณ นวดน้ำมัน นวดอโรมา

7. การประคบสมุนไพร

การประคบสมุนไพรเป็นการใช้สมุนไพรห่อด้วยผ้าเป็นลูก เรียกว่า ลูกประคบ จากนั้นนำลูกประคบไปนึ่งให้ร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ดหรือขัดยอกซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ค่ะ สำหรับสมุนไพรที่นำมาใช้ทำลูกประคบส่วนใหญ่นั้นจะมีน้ำมันหอมระเหย

การประคบสมุนไพร

เมื่อนึ่งให้ร้อนแล้วแล้วน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นตัวยาจะออกมากับไอน้ำและความชื้น และเมื่อประคบตัวยาเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก ลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นอกจากนี้ความร้อนจากลูกประคบยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น ที่สำคัญกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้คลายเครียดเกิดความสดชื่นอีกด้วย

วิธีดูแลสุขภาพแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

และทั้งหมดนี้ก็คือ 7 วิธีดูแลสุขภาพแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เรารวบรวมมาฝากคุณในวันนี้ค่ะ อย่าลืมนำไปทำตามกันดูนะคะ บอกเลยว่าแต่ละวิธีนั้นเป็นมิตรต่อสุขภาพของคุณและสิ่งแวดล้อม 100%

ติดตามเราได้ที่นี่