ปวดฟัน (Toothache) หมายถึง อาการปวดรอบฟันหรือขากรรไกร ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากสภาพฟันผุ ฟันคุด ฟันแตก ฟันสึก เหงือกอักเสบ หรือกระดูกรอบฟันอักเสบ นอกจากนี้อาการปวดฟันยังอาจเป็นอาการปวดจากโรคอื่น ๆ แล้วปวดร้าวส่งต่อมาที่ฟัน ส่งผลให้ดูเหมือนปวดฟัน เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคทางหู และโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยอาการปวดฟันนี้จะไม่สามารถหายไปเองได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุโดยทันตแพทย์ แต่ก็สามารถบรรเทาอาการให้ปวดน้อยลงได้ในช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะไปพบทันตแพทย์
วิธีแก้ปวดฟัน บรรเทาอาการลงได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
เมื่อเกิดอาการปวดฟันแล้ว สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็คงเป็นวิธีแก้ปวดฟันที่ได้ผลและช่วยลดอาการปวดได้อย่างเร็วที่สุดก่อนที่จะไปพบแพทย์ ซึ่งอาการปวดฟันสามารถบรรเทาลงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. ประคบร้อนบริเวณซีกแก้มที่เกิดอาการปวดฟันด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อนที่ใส่น้ำอุ่นจัดก็แล้วแต่สะดวก
2. ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชากับน้ำต้มสุก 1 แก้วกาแฟ คนจนเกลือละลายแล้วนำมาบ้วนปากนาน 30 วินาที เกลือจะช่วยลดอาการเหงือกบวมและลดการอักเสบได้
3. แช่ใบชาดำหรือชาเปปเปอร์มินต์กับน้ำร้อนนาน 20 นาที จากนั้นรอจนน้ำชาอุ่น ๆ แล้วนำมาบ้วนปากสักพัก ใบชาเหล่านี้จะมีสรรพคุณลดอาการอักเสบและช่วยลดอาการเหงือกบวมจากฟันผุได้
4. บ้วนปากด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้น 3% สักพัก ให้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของอาการฟันผุ
5. หากอาการปวดฟันมีลักษณะปวดตุบ ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ให้ประคบซีกแก้มที่เกิดอาการปวดฟันด้วยน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาที ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง ความเย็นจะช่วยลดอาการปวดและลดบวมลง
6. นวดกดจุดบรรเทาอาการปวดฟัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว โดยมีวิธีดังนี้
– นวดคลึงเบา ๆ ที่แก้มบริเวณเหนือฟันที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว
– ใช้น้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ กดและถู หรือหรือใช้มืออีกข้างนวดบริเวณง่ามมือระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จะทำให้อาการปวดฟันทุเลาลง
– สำหรับคนที่ปวดบริเวณกรามล่าง ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดบริเวณกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันล่าง ส่วนคนที่ปวดบริเวณกรามบนให้วางนิ้วหัวแม่มือ ตรงบริเวณส่วนกลางของหู แล้วลากนิ้วไปทางด้านหน้า จนกระทั่งถึงรอยบุ๋มใต้กระดูกประมาณหนึ่งนิ้วบริเวณหน้าใบหู จากนั้นกดแรง ๆ ประมาณ 10 นาที
7. ใช้ยา โดยยาที่สามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้มี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
วิธีแก้ปวดฟัน
– ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดที่สามารถบรรเทาอาการปวดได้นั้นมีหลายชนิด โดยจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการปวด ซึ่งถ้าหากอาการไม่รุนแรงมากก็สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้ แต่ถ้าหากปวดในระดับปานกลางก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้ยาในกลุ่มออกฤทธิ์แก้ปวดอย่างแอสไพริน กรดมีเฟนนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
– ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย (ยาแก้อักเสบ)
ยาในกลุ่มนี้จะถูกใช้ในกรณีที่มีอาการเหงือกบวมหรือเป็นหนองร่วมด้วย โดยยาที่ทันตแพทย์นิยมใช้ได้แก่ ยาอะม็อกซีซิลลิน ยากอีริโทรไมซิน หรือยาร็อกซีโทรไมซิน ซึ่งการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทันแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ เพราะฤทธิ์ของยาค่อนข้างรุนแรงและมักจะมีผู้ป่วยแพ้ยา โดยเฉพาะยาอะม็อกซีซิลลิน ดังนั้นก่อนนำยาแก้อักเสบมาใช้รักษาอาการปวดควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนจะดีที่สุด