สมุนไพรหลายชนิดถูกกล่าวอ้างว่ามีสรรพคุณเป็นยาบรรเทาอาการไอจากธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้ง ใบไทม์ เปปเปอร์มินต์ และในปัจจุบันยังมีงานวิจัยออกมารองรับสมุนไพรแก้ไอมากมาย ทำให้หลายคนเลือกใช้สมุนไพรมากขึ้น อีกทั้งยังหาได้ง่ายและมีราคาไม่สูง
อาการไอ เป็นการตอบสนองของร่างกายตามธรรมชาติต่อสิ่งแปลกปลอมที่สร้างความระคายเคืองให้กับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้ในชีวิตประจำวันและร่างกายไม่สามารถบังคับได้ อาการไอโดยทั่วไปมักหายได้เอง แต่ในกรณีที่ไอติดต่อกันเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ไอเป็นเลือด หรือมีสารคัดหลั่งปนออกมา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติของร่างกาย นอกจากนี้ ในบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงจากการไอเรื้อรังหรือไออย่างรุนแรง เช่น มีปัญหาในการนอน ปวดศีรษะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น
ด้วยสรรพคุณทางยาที่ถูกกล่าวอ้างถึงของสมุนไพรตามความเชื่อดั้งเดิม จึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการไอ สำหรับความปลอดภัยและข้อสนับสนุนทางการแพทย์ในเรื่องสมุนไพรแก้ไอมีกล่าวไว้ดังนี้
น้ำผึ้ง เป็นของเหลวเหนียวข้นที่ได้จากน้ำหวานของเกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ มีสีและกลิ่นแตกต่างกันออกไป อุดมไปด้วยเอนไซม์ กรดอะมิโน วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญหลายชนิด ซึ่งเชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการไอ และลดความเหนียวข้นของเสมหะ อีกทั้งยังมีรสชาติและกลิ่นที่ช่วยให้รับประทานง่าย จึงนิยมใช้บรรเทาอาการไออย่างแพร่หลาย
มีงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำผึ้งเปรียบเทียบกับการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ อายุ 24-60 เดือน จำนวน 139 คน ที่มีอาการไอในเวลากลางคืนและส่งผลต่อการนอน ในการทดลองแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานน้ำผึ้งก่อนนอน ส่วนกลุ่มอื่นให้รับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ส่วนกลุ่มสุดท้ายรักษาตามอาการ หลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมงจึงวัดผลจากการตอบแบบสอบถามของผู้ปกครองเด็ก เพื่อประเมินความถี่และความรุนแรงในการไอ ผลการศึกษาพบว่า การรักษาทั้ง 3 กลุ่มช่วยลดอาการไอในผู้ป่วยเด็กโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่ไม่มีประสิทธิภาพแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำผึ้งต่ออาการไอเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัสในเด็ก อายุ 1-18 ปี จำนวน 568 คน ได้แบ่งผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มที่รับประทานยาไดเฟนไฮดรามีน ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน ยาหลอก น้ำผึ้ง และกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา ผลการศึกษาพบว่า น้ำผึ้งอาจช่วยลดความกังวลในการไอและช่วยให้หลับในช่วงกลางคืนได้ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก ยาไดเฟนไฮดรามีน และไม่ได้รับการรักษา แต่ได้ผลดีน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างในแต่ละกลุ่มยังมีไม่มากนัก และระยะเวลาติดตามผลเพียง 1 คืน ซึ่งเป็นเวลาที่ค่อนข้างสั้น
จากข้อมูลข้างต้นชี้ว่า น้ำผึ้งอาจเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการไอในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง แต่การศึกษาคุณสมบัติของน้ำผึ้งต่อการรักษาอาการไอยังมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากปัจจัยในการทดลองหลายประเด็นยังไม่รัดกุม บางส่วนอาจเกิดความคาดเคลื่อนหรือได้ผลไม่ถูกต้อง จึงยังไม่สามารถสรุปผลในการรักษาโรคได้ชัดเจน หากต้องการทดลองรับประทานน้ำผึ้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการไอก็ควรระวังผลข้างเคียงบางประการ ดังนี้
การรับประทานน้ำผึ้งในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ แต่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากน้ำผึ้งบางชนิดอาจเกิดการปนเปื้อนสารพิษโบทูลิซึม (Botulism) ที่สร้างขึ้นจากเชื้อ Clostridium Botulinum จึงไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานน้ำผึ้ง รวมถึงไม่รับประทานน้ำผึ้งที่ไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้หรืออาการภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับผึ้ง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้ง เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ได้สูง
ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ และรับประทานน้ำผึ้งด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากน้ำผึ้งบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย เช่น หัวใจเต้นผิดปกติหรือหยุดเต้น สายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เม็ดเลือดขาวผิดปกติ ความดันเลือดต่ำ เจ็บหน้าอก ท้องเสีย หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ไข้ขึ้น แสบร้อน ภาวะเป็นพิษจากน้ำผึ้ง อาเจียน เป็นต้น
การรับประทานน้ำผึ้งอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงผู้ที่รับประทานยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรรับประทานด้วยความระมัดระวังหรือปรึกษาแพทย์ และมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอtopspotmusic
หญิงมีครรภ์และคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน เพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานน้ำผึ้ง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพแม่หรือทารก
น้ำผึ้งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อเลือดควรรับประทานภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด และไม่ควรปรับปริมาณการรับประทานเอง
น้ำผึ้งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานการทำงานของเอนไซม์ ไซโตโครมพี 450 (Cytochrome P450) ของตับ จึงควรระมัดระวังการรับประทานยาบางชนิดที่ดูดซึมผ่านเอมไซม์นี้
ไทม์ เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เพิ่มรสชาติและกลิ่นในอาหาร โดยจะใช้ส่วนที่เป็นใบมากที่สุด สำหรับคุณสมบัติทางยากล่าวกันว่าอาจช่วยบรรเทาอาการไอจากโรคในระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากใบไทม์มีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อในภายลำคอ บรรเทาอาการไอ และลดการอักเสบ ทำให้หลายคนรับประทานเป็นยาแก้ไอจากธรรมชาติ
จากการศึกษาประสิทธิภาพและผลการใช้สารสกัดจากใบไทม์แห้งร่วมกับสารสกัดอื่น ๆ เปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยที่มีอาการไอจากโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันจำนวน 361 คน ในระยะเวลา 11 วัน ผลพบว่า การรับประทานสารสกัดจากใบไทม์แห้งร่วมกับสารสกัดอื่นช่วยบรรเทาอาการไอได้ดีกว่ายาหลอก ผู้ป่วยทนต่อการใช้ยาได้ดีและค่อนข้างมีความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยอีกชิ้นที่ได้ผลที่คล้ายคลึงกัน โดยเป็นการศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรับประทานยาแก้ไอสมุนไพรแบบน้ำที่มีสารสกัดใบไทม์ในผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบแบบเฉียบพลันหรือโรคในระบบทางเดินหายใจเป็นระยะเวลานานแตกต่างกัน 3-23 วัน โดยรับประทานวันละ 7.5-15 มิลลิลิตร ผลพบว่า ยาแก้ไอที่มีส่วนผสมของใบไทม์ช่วยบรรเทาอาการไอได้ดีกว่าการใช้ยาหลอก โดยเป็นการเมินผลร่วมกันระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา
แม้ว่าผลการศึกษาพบว่าใบไทม์ช่วยบรรเทาอาการไอได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการรับประทาน แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปผลในการรักษาอาการไอได้อย่างชัดเจน เนื่องจากในการทดลองยังมีสารสกัดหรือสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบควบคู่ด้วย อย่างไรก็ตาม การลองรับประทานใบไทม์ควรทราบข้อควรระวังบางประการ ดังนี้
การรับประทานใบไทม์ปริมาณปกติที่พบในอาหารค่อนข้างปลอดภัยและอาจไม่เป็นอันตรายเมื่อรับประทานใบไทม์ในรูปแบบสารสกัดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการรับประทานน้ำมันสกัดจากใบไทม์ในปริมาณมากหรือมีความเข้มข้นสูง
ใบไทม์อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบย่อยอาหารในบางราย
หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน เพราะยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์รับรองความปลอดภัยในการรับประทานใบไทม์ในปริมาณสูง
ผู้ที่มีอาการแพ้ออริกาโนหรือสมุนไพรชนิดอื่นในวงศ์กะเพรา (Lamiaceae) อาจเกิดอาการแพ้หลังรับประทานใบไทม์ได้เช่นกัน
ใบไทม์อาจทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลง จึงควรระมัดระวังการรับประทานในปริมาณมาก เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติ รวมถึงหยุดรับประทานใบไทม์ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อความปลอดภัย
ใบไทม์อาจออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ผู้ที่มีโรคหรือภาวะที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน เพราะอาจทำให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง
เปปเปอร์มินต์ เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้เพิ่มรสชาติในอาหารหรือเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หลายชนิด เนื่องจากกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัวจากสารเมนทอลที่พบในเปปเปอร์มินต์ และยังเชื่อว่าสารชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แก้ไอ ละลายเสมหะ และอื่น ๆ เปปเปอร์มินต์สามารถรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น เพื่อสะดวกต่อการรับประทานและใช้งานมากขึ้น
จากการศึกษาประสิทธิภาพของสเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนประกอบของเปปเปอร์มินต์และสมุนไพรอื่น ๆ อีก 4 ชนิดในผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน จำนวน 60 คน เปรียบเทียบกับยาหลอกในรูปแบบสเปรย์ โดยให้พ่น 5 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ผลพบว่า สเปรย์น้ำมันหอมระเหยช่วยลดอาการไอและบรรเทาอาการอื่น ๆ จากตัวโรคของผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายในช่วงแรกเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก แต่กลับไม่พบความแตกต่างของการใช้สเปรย์น้ำมันหอมระเหยและยาหลอกในรูปแบบสเปรย์หลังจากผ่านไป 3 วัน
ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาบางส่วนที่ให้ผลในทางตรงกันข้ามและยังสรุปไม่ได้แน่ชัด เช่น การทดลองหาประสิทธิผลของเมนทอลต่อระบบทางเดินหายใจในเด็กสุขภาพดี อายุ 10-11 จำนวน 42 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มที่สูดดมเมนทอลและอีกกลุ่มสูดดมยาหลอกที่เป็นสารชนิดอื่น ผลปรากฏว่า ไม่ค่อยพบความแตกต่างในการไหลเวียนของอากาศจากการวัดผล แต่เมนทอลช่วยให้เด็กรู้สึกหายใจโล่งขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม กลุ่มทดลองเป็นเด็กจึงไม่อาจสามารถค้นหาคำตอบต่อได้
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของเปปเปอร์มินต์ต่อการรักษาอาการไอยังไม่สามารถสรุปผลที่แน่นอน เพราะกลุ่มคนในการทดลองยังไม่ครอบคลุมคนได้ทุกกลุ่ม อีกทั้ง ยังคงต้องมีการศึกษาในระยะยาวในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้เปปเปอร์มินต์ โดยทั่วไปการรับประทานเปปเปอร์มินต์ในปริมาณที่เหมาะสมค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่มีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้
น้ำมันเปปเปอร์มินต์หรือใบเปปเปอร์มินต์สด ๆ อาจเป็นพิษต่อร่างกายเมื่อรับประทานในปริมาณมาก
ไม่ควรรับประทานเปปเปอร์มินต์ที่มีความเข้มข้นสูงทุกรูปแบบติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 8 สัปดาห์ เพราะยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยของผลการใช้ในระยะยาว
เปปเปอร์มินต์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงในบางราย เช่น แสบร้อนกลางทรวงอก ปวดศีรษะ แผลร้อนใน
น้ำมันเปปเปอร์มินต์แบบเม็ดเคลือบอาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี และผู้ที่มีภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหารหรือกรดน้อย (Achlorhydria)
หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานเปปเปอร์มินต์ในรูปแบบสารสกัดที่มีความเข้มข้นสูง เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการรับประทาน
น้ำมันเปปเปอร์มินต์แบบเม็ดเคลือบอาจก่อให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณทวารหนักในผู้ที่มีอาการท้องเสีย
ความปลอดภัยของการใช้สมุนไพรในการรักษาอาการไอ
การใช้สมุนไพรรักษาอาการไอในปัจจุบันยังไม่มีการรับรองและยืนยันความปลอดภัยทางการแพทย์อย่างชัดเจน โดยทั่วไปการรับประทานสมุนไพรในชีวิตประจำวันจากอาหารค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่สมุนไพรในรูปสารสกัดทุกรูปแบบควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนการใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาของสมุนไพรบางตัว
แม้ว่าสมุนไพรเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในการบรรเทาอาการไอ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษและปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ทุกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการไอรุนแรงหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการไออาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
การรักษาอาการไอตามแพทย์แผนปัจจุบัน
อาการไอรักษาได้หลายวิธี โดยพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นหลัก อาการมักหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีอาการไอไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองโดยดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ อาจจะเติมน้ำผึ้งหรือขิงลงไปเล็กน้อย อมยาอมหรือลูกอมที่ช่วยให้ชุ่มคอ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการไอ เช่น การสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง เป็นต้น
ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาจากสาเหตุและรักษาตามอาการร่วมกับการใช้ยา ซึ่งตัวยาที่ใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการไอมีอยู่หลายกลุ่ม เช่น ยาต้านฮิสทามีน ยาพ่นสเตียรอยด์รักษาโรคหอบหืด ยาปฏิชีวนะ ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ยากดอาการไอ