มะตูม จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี เรานิยมนำผลของ มะตูม มาทำเป็นเครื่องดื่มผสมกับน้ำตาล เป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานหอม ช่วยดับกระหายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีคุณค่าทางยาที่ช่วยบำรุงร่างกาย ไม่เพียงแค่ส่วนของผลเท่านั้น แต่ส่วนอื่นของต้นยังสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลย
ลักษณะของต้นมะตูม
มะตูม มีชื่อสามัญว่า Beal ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Aegle marmelos (L.) Corrêa จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับส้ม สำหรับในภาคเหนือเรียก มะตูม ว่า มะปิน ภาคอีสานเรียกว่า หมากตูม ภาคใต้เรียกว่า กะทันตาเถร ตุ่มตัง หรือตูม ลักษณะของสมุนไพรชนิดนี้เป็นไม้ผลยืนต้น เติบโตในแถบพื้นเมืองบริเวณป่าดิบและตามเนินเขา พบมาในที่ราบของอินเดียตอนกลางและตอนใต้ ปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า และเวียดนาม จนถูกนำมาเพาะปลูกในประเทศไทยในเวลาต่อมา และแพร่หลายไปทั่วทุกภาค กลายเป็นพืชที่ใครๆ ก็รู้จัก โดยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ดังนี้
- ส่วนของลำต้นมีความสูงประมาณ 18 เมตร เปลือกด้านนกจะเป็นสีเทา มีความเรียบ มองเห็นร่องตื้น จัดอยู่ในไม้เนื้อแข็ง สีขาวแกมเหลือง มีกลิ่นหอม
- โคนต้น และกิ่งก้านจะมีหนามที่ยาวแหลม มีความแข็ง แทงตัวออกมาในลักษณะหนามเดี่ยวหรือหนามคู่ตามกิ่ง
- ลักษณะของใบประกอบกันเหมือนขนนก ใบย่อยคล้ายรูปไขหรือรูปหอกด้วยกัน 3 ใบ คล้ายกับตรีศูลของพระศิวะ ใบปลายจะมีขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร โคนใบจะสอบมน ส่วนปลายใบแหลม เมื่อสัมผัสเนื้อใบจะรู้สึกได้ถึงความบาง เกลี้ยง พบเส้นแขนงใบราว 6-10 คู่ ปลายเส้นแขนงจะจรดกันไม่ถึงขอบใบ มีเส้นใบย่อยกระจายตัวอยู่มองเห็นไม่ชัด หลังใบเป็นสีเขียวเข้มและมัน ท้องใบจะเป็นสีขาว การออกใบจะออกเป็นเกลียววนรอบกิ่ง ใบมีกลิ่นหอม เมื่อนำไปส่องแดดจะมองเห็นต่อมน้ำมันสีใสกระจายตัวอยู่ด้านใน
- ดอกเป็นสีขาว ขนาดเล็ก มักออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ดอกจะออกเป็นช่อชนิดสมบูรณ์เพศ จะพบได้ที่ซอกใบหรือปลายกิ่ง มีดอกย่อยสีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอมที่โชยไกลจากต้น
- ผลมะตูมจะมีเปลือกแข็งหุ้มด้านนอก รูปทรงเหมือนไข่หรือกลม ผลอ่อนจะมีเปลือกสีเขียวแข็ง เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวอมเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5-15 เซนติเมตร บางผลเปลือกด้านนอกมีความแข็งมาก ไม
- สามารถแกะออกด้วยมือหรือมีดได้ ต้องใช้ค้อนทุบเพื่อเอาเนื้อด้านในออกมา
- ส่วนของเนื้อด้านในเป็นสีส้มเหลือง มีความนิ่ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม และมีน้ำเหนียวข้นด้านในคล้ายยาง ภายในประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก แทรกอยู่ตามเนื้อ เมล็ดมีขนปกคลุมหนา เมล็ดจะเป็นที่นิยมของกระรอกและสัตว์ป่า
คุณค่าทางอาหารจากต้นมะตูม
คุณค่าที่พบในมะตูม มีสารสำคัญหลากหลายชนิดที่ให้คุณค่าทางด้านการรักษาและบำรุงสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสารแทนนิน, สารเพคทิน, สารเมือก และยางมะตูม ซึ่งในปัจจุบันมีการวิจัยศึกษาคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบปรุงแต่งในตำรับยาน้ำกระจายตัวที่พบได้ในยางมะตูม
มะตูมจึงมีประโยชน์ตั้งแต่ช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ช่วยต้านไวรัส ยีสต์ เชื้อมาลาเรีย ช่วยฆ่าพยาธิ ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านฮีสตามีน ลดและยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นให้อินซูลินมีปริมาณเพิ่มขึ้น ลดไขมัน ลดภาวะอักเสบ และช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
สรรพคุณทางยาของมะตูมที่นิยมใช้
- เปลือกและลำต้น นำมาใช้รักษาอาการไข้ ใช้เป็นยารักษาไข้มาลาเรียในอดีต ช่วยขับลมในลำไส้ ลดพิษไข้ รักษาน้ำดี และแก้พิษฝี
- ใบสด นิยมนำมาใช้แก้อาการไอ ลดเสมหะ ยิ่งในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ให้ใช้ใบมะตูมดิบคั้นน้ำ นำมาดื่ม บรรเทาอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
- ส่วนของผลอ่อน ที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด ให้คุณค่าเป็นยาช่วยเจริญอาหาร และขับลมในกระเพาะ ผลแก่จะช่วยลดเสมหา ช่วยย่อยอาหาร ทำเป็นเครื่องดื่มแก้ร้อนใน ผลสุกที่เละนิยมนำเนื้อมาใช้เป็นยาระบายและยาช่วยย่อยในเด็ก ส่วนผลดิบนิยมนำมาใช้แก้อาการบิด แก้ท้องเสียในเด็กเล็ก
ขั้นตอนการทำเครื่องดื่มน้ำมะตูม
- ใช้มะตูมแห้งที่ฝานเป็นแว่นประมาณ 5-8 แว่น ไปย่างไฟหรือคั่วให้หอมในกระทะ
- เติมน้ำเปล่าลงในหม้อ แล้วนำมะตูมที่เตรียมไว้ใส่ตามลงไป ต้มจนกระทั่งเดือด สังเกตว่าน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ต้มต่อไปอีก 15-20 นาที
- เติมน้ำตาลทรายแดงลงไปในสัดส่วนตามชอบ คนจนน้ำตาลละลายจนหมด เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ จนน้ำมีสีเข้มขึ้นและส่งกลิ่นหอมได้ที่ ยกลงจากเตา แล้วกรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอาเศษมะตูมออกให้เหลือแค่น้ำ ตั้งพักทิ้งไว้ สามารถดื่มเป็นทั้งแบบร้อนและเย็นผสมน้ำแข็งก็ได้รสชาติที่หอมอร่อย
น้ำมะตูม จัดได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดับกระหายได้เป็นอย่างดี ทั้งกลิ่นหอมและความหวาน ทำให้รู้สึกชุ่มคอ และได้ประโยชน์ช่วยขับลมจุกเสียดในช่องท้อง รักษาโรคกระเพาะ ลดอาการบิดของโรคลำไส้ และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ