ใบเตย ได้รับความนิยมนำมาใช้แต่งกลิ่นปรุงอาหาร หรือปรุงเป็นยา เนื่องจากเชื่อกันว่าสารประกอบในใบเตยอาจมีสรรพคุณรักษาป้องกันโรคบางชนิดได้ เช่น โรคเบาหวาน และมะเร็ง เป็นต้น
ใบเตยเป็นพืชที่คนคุ้นเคยนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น แต่งกลิ่นหอมและให้สีเขียวในอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมหวาน เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน นอกจากกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใบเตยยังมีสารเคมีธรรมชาติที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และบางชนิดก็มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระที่อาจทำลายเซลล์ได้ เช่น ฟลาโวนอยด์ สารจำพวกฟีนอล น้ำมันหอมระเหยไฟทอล และสควาลีน เป็นต้น ดังนั้น หลายคนจึงนำใบเตยมาบริโภคหรือใช้เพื่อบำรุงสุขภาพ แต่แท้จริงแล้วใบเตยมีประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนพิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ไว้ ดังต่อไปนี้
รักษาโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ หรือร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลต่อกระบวนการดูดซึมน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานของเซลล์ในร่างกายผิดปกติ และอาจทำให้เกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา ใบเตยเป็นพืชที่มีสารเคมีเป็นประโยชน์หลายชนิด จึงเชื่อว่าใบเตยอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ โดยมีงานค้นคว้าที่ให้อาสาสมัครซึ่งมีสุขภาพดี 30 ราย ดื่มน้ำที่มีสารสกัดจากใบเตยพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สารสกัดจากใบเตยมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติในเซลล์ของหนู ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็ก และไม่ได้ทดลองในผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยตรง จึงควรศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของใบเตย ก่อนทดลองในผู้ป่วยจริงเพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางการแพทย์ต่อไป
ต้านมะเร็ง
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พรากชีวิตผู้ป่วยหญิงจำนวนมาก เป็นโรคที่ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลชัดเจน ในทางการแพทย์มีการนำพืชสมุนไพรมากมายมาทดลองเพื่อหาแนวทางป้องกันรักษาโรคร้ายนี้ โดยใบเตยก็เป็น 1 ในพืชที่ถูกนำมาค้นคว้าทดลองเช่นกัน
มีงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาคุณสมบัติของสารฟลาโวนอยด์และสารฟีนอลิกที่ได้จากใบเตย พบว่าสารเหล่านี้อาจมีคุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระและต้านมะเร็งได้ ส่วนงานค้นคว้าอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาปฏิกิริยาของสารสกัดเอทานอลต่อตัวอย่างเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งเต้านมและช่วยให้เซลล์เนื้อร้ายนี้ตายได้
แม้มีผลลัพธ์การทดลองดังข้างต้น แต่งานวิจัยเหล่านั้นเป็นเพียงการทดลองในห้องปฏิบัติการและทดลองในตัวอย่างเซลล์มะเร็งเต้านมเท่านั้น จึงควรศึกษาเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อนนำไปทดลองกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลที่แน่ชัดต่อไป
ต้านเชื้อไวรัส
ไวรัสเป็นเชื้อโรคขนาดเล็กแต่บางชนิดอันตรายมาก โดยไวรัสจะสร้างความเสียหายแก่เซลล์ร่างกาย จนทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเป็นโรคติดเชื้อต่าง ๆ จึงมีการคิดค้นยาต้านไวรัสมากมายในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกชนิด บางพื้นที่คนนิยมใช้สมุนไพรต่าง ๆ มาใช้ต้านไวรัส ทางการแพทย์ให้ความสนใจในด้านนี้เช่นกัน ใบเตยเป็น 1 ในพืชที่ถูกเลือกมาทดลองเพื่อหาประสิทธิผลต่อการต้านเชื้อไวรัส
การวิจัยหนึ่งทดลองประสิทธิภาพต้านไวรัสของโปรตีนที่สกัดจากใบเตย พบว่าสารสกัดจากใบเตยอาจต้านเชื้อไวรัสที่พบในคนได้ เช่น ไวรัสโรคเริม และไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่งานค้นคว้านี้ทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงยังไม่อาจยืนยันการออกฤทธิ์ที่แน่ชัดของสารสกัดจากใบเตยในคนได้ ควรมีการค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมต่อไป จนกว่าการทดสอบประสิทธิผลทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อไวรัสของใบเตยจะมีความชัดเจน
ความปลอดภัยในการบริโภคใบเตย
ขณะนี้ยังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับสรรพคุณทางการแพทย์ ความปลอดภัย หรือปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภคใบเตย ผู้บริโภคจึงควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของใบเตยในปริมาณที่พอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ให้ถี่ถ้วนก่อนบริโภคใบเตยหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากใบเตยเสมอ เพราะสารเคมีจากใบเตยอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและยารักษาบางชนิด จนอาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
นอกจากนี้ หากต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากใบเตย เช่น ชาใบเตย น้ำใบเตย หรือชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของใบเตย ผู้บริโภคควรศึกษาฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดี ทำตามขั้นตอนและคำแนะนำบนฉลากเสมอ เพราะแม้เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติ และอาจจะปราศจากสารคาเฟอีน แต่ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติอาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทุกคนเสมอไป